ไขข้อสงสัยสารเคมีต่าง ๆ ของบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายหรือไม่ ?


บุหรี่ไฟฟ้า

บุหรี่ไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่ง ซึ่งใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำ ประกอบไปด้วยสารเคมีต่าง ๆ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนกับบุหรี่ปกติทั่วไป ซึ่งใช้แบตเตอรี่ในการทำงานเพื่อสร้างความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารต่าง ๆ คือ

สงสัยสารเคมีต่าง ๆ ของบุหรี่ไฟฟ้า

  • กลีเซอรีน (Glycerine)  เป็นสารเพิ่มความชื้นที่จะผสมผสานกับสารโพรไพลีนไกลคอล  องค์การอาหารและยา (FDA) ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย เช่นเดียวกันกับโพรไพลีนไกลคอล
  • สารแต่งกลิ่นและรส (Flavoring) เป็นสารเคมีที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารทั่วไป มีความปลอดภัยเมื่อรับประทานเข้าสู่ร่างกาย แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย ตัวอย่างเช่น สารไดอะซิติล (Diacetyl) ที่พบมากในเนยสำหรับทำป็อปคอร์น อาจเป็นสาเหตุของปัญหาระบบทางเดินหายใจและปอด
  • นิโคติน (Nicotine) เมื่อสารเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด  โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มะเร็งช่องปาก หลอดอาหารและตับอ่อน นอกจากนี้นิโคตินยังกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ซึ่งสารนี้ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน  นิโคตินกระตุ้นให้จำนวนเซลล์ผนังหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดตีบ เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง สำหรับหญิงตั้งครรภ์นิโคตินส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทารกในครรภ์ การได้รับสารนิโคตินในระดับที่สูง (60 mg. ในผู้ใหญ่ และ 6 mg ในเด็กเล็ก) เสี่ยงต่อการเสียชีวิต
  • โพรไพลีนไกลคอล และสาร Glycerol/Glycerin เมื่อมีการสัมผัสหรือสูดดมเข้าไป อาจทำให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวหนัง ดวงตาและปอดได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อทำการเปิดเครื่องจะมีไฟสีแดงขึ้นพร้อมกับการทำงานของแบตเตอรี่และจะเกิดความร้อน ทำให้น้ำยาที่บรรจุอยู่ภายในระเหยขึ้นมากลายเป็นควัน เมื่อสูบเข้าไปร่างกายจะได้รับนิโคตินก่อนที่จะถูกพ่นออกมา ผลจากการวิจัยพบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น โรคหัวใจ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ในเซลล์ปอด หัวใจ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง และแน่นอนว่าไม่เพียงแค่ผู้สูบแต่ผู้สูดดมก็อันตรายเช่นกัน